ศิลปวัฒนธรรมดนตรีจีนมีประวัติความเป็นมายาวนานและมีความหลากหลายจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวาง
ในที่นี้จะกล่าวถึง เฉพาะกรณีดนตรีฮั่น (Cantonese Music) ซึ่งเป็นตัวแทนดนตรีขนบประเพณีของจีนมาตลอดเวลา
1. ยุคแรก (1766-256 B.C.) ราชวงศ์ซาง-โจว ดนตรีมีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนอย่างใกล้ชิด พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับเครื่องดนตรีในราชวงศ์ชางมาก เช่น ระฆังสำริด ระฆังราวหิน เครื่องเป่าจากกระดูกสัตว์ ในราชสำนักโจวเกิดการใช้ดนตรีในพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยแนวคิดขงจื้อ ที่ระบุไว้ในตำราซือจิง(ว่าด้วยเรื่องบทกวีที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในทั้ง จังหวะและทำนองขับร้อง) ปราชญ์ขงจื้อให้ความสำคัญกับเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิด ในตัวบุคคลผ่านการศึกษาวิชาจารีตประเพณี (li) กวีนิพนธ์ (shis) และดนตรี (yueh) เชื่อว่าสังคมจะสงบสุขได้ด้วยองค์ความรู้ทั้งสามนี้ มีการตั้งกระทรวงการดนตรี พัฒนารูปแบบดนตรีราชสำนัก Ya-Yueh ตลอดจนการขับร้องและฟ้อนรำ
2. ยุคกลาง (221B.C.-907 A.D.) (ราชวงศ์จิ๋น-ฮั่น-สุย-ถัง) หลังจากราชวงศ์โจวเสื่อมอำนาจ ราชวงศ์จิ๋นขึ้นปกครองแทน หากแต่มีความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามทำให้ดนตรีในสมัยนี้ไม่เด่นชัดนัก อีกทั้งมีการเผาหนังสือตำราชและประหารชีวิตนักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวนมาก ดนตรีขงจื๊อกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีการตั้งระดับเสียงมาตรฐานในรัชกาลพระเจ้าวู่ตี่ ตั้งหน่วยดนตรีราชสำนักเย่ฟู่ รับผิดชอบงานพิธี งานบันเทิง เก็บรักษาโน้ต เนื่องจากความแข็งแกร่งทางอำนาจการเมืองที่สามารถขยายขอบเขตประเทศออกไป กว้างไกล ราชวงศ์ฮั่นรับอิทธิพลต่างประเทศมาก รับพุทธศาสนาจากอินเดีย รับดนตรีจากเขตตะวันออกกลางเข้ามาประสมและพัฒนามาเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ จีนในภายหลังเช่น พิณ ud สี่สายของเปอร์เซียกลายเป็นผีผา pipa สมัยราชวงศ์ถัง จีนมีดนตรีถึง 10 ประเภทด้วยกัน เช่น ดนตรีงานเลี้ยงรับรอง ดนตรีจากชนกลุ่มน้อย ชาวเขา จากอินเดีย เอเชียกลาง ยุคทอง คือสมัยพระเจ้าเสียงจง 712-756A.D. มีบันทึกว่ามีนักดนตรีอยู่ในเมืองฉางอันกว่า 10000 คน มีการแบ่งหมวดหมู่ดนตรีราชสำนักเป็นดนตรีพิธีขงจื๊อ ดนตรีการแสดง ดนตรีบรรเลง เครื่องดนตรีที่นิยมมากคือฉิน Qin สำหรับนักปราชญ์ฝึกฝนปัญญาสมาธิ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งวิทยาลัยดนตรีหลีเหยิน (Li Yuen, Imperial Academy of Music) เป็นครั้งแรกในปี 714 ฝึกฝนบัณฑิตทางศิลปะการแสดงดนตรีอย่างจริงจัง
3. ยุคหลัง (960-1911A.D.) ราชวงศ์ซ้อง ดนตรีก้าวหน้ามาก แบ่งเป็นกลุ่มดนตรีพิธีกรรมขงจื๊อ Ya-Yueh, ดนตรียอดนิยม Su-Yueh, ดนตรีต่างประเทศ Hu-Yueh มีการแต่งเพลงเน้นเอกลักษณ์จีนมาก มีการปรับปรุงเครื่องดนตรีจากเอเชียกลาง เช่น ซอฮูฉิน มีการพัฒนารูปแบบดนตรีเพื่อใช้ในการละครจีนและการขับร้องพื้นเมือง ราชวงศ์หมิง มีการพัฒนาแนวคิดระบบเสียง equal temperament อย่างจริงจังโดยเจ้าชายไซหยู (Tsai-Yu 1596) ซึ่งส่งผลให้ทฤษฎีดนตรี จีนเข้มแข็งต่อมา ราชวงศ์ชิง มีการรับดนตรีตะวันตกในทางเพลงคริสตศาสนาและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนัก ดนตรีจีนกับยุโรปหลายคน เครื่องดนตรีแคน เช็ง sheng กลายเป็นที่รู้จักในยุโรปและมีผลต่อการพัฒนาออร์แกน ในขณะที่ขิม หยางฉิน Yang chin (จีนเรียกว่า “พิณฝรั่ง” foreign zither) เป็นเครื่องดนตรีที่นำเข้ามาจากฝ่ายยุโรปและพัฒนาวิธีการขึ้นเสียงตลอดจนการ บรรเลงให้เป็นจีนในที่สุด กลางราชวงศ์ชิงดนตรีโบราณของจีนเสื่อมคลาย ดนตรีตะวันตกเป็นที่ยอมรับมากในหมู่ชนชั้นกลางรุ่นใหม่
4. สมัยสาธารณรัฐ ราชวงศ์ชิงเสื่อม แมนจูเข้าช่วยปราบกบฏชาวนา-ยึดกรุงปักกิ่งเป็นราชธานี ช่วงหลังเกิดปัญหามาก ประเทศตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาในจีน เกิดสงครามฝิ่นกับอังกฤษ (1839-42) กบฏไตปิง (1850) สงครามญี่ปุ่น (1894) เกิดขบวนการอั้งยี่ การฉ้อราษฏรบังหลวง ฯลฯ จนกระทั่งพระเจ้าปูยีฮ่องเต้องค์สุดท้ายสละราชสมบัติ
ปี 1911จีนเข้าสู่ระบบการปกครองสาธารณรัฐและเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันยาว นานของดนตรีจีนราชสำนักด้วย เกิดความขัดแย้งระหว่างเก่า-ใหม่ คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางสนับสนุนเรียนดนตรีตะวันตกกันมากขึ้น มีการตั้งภาควิชา ดุริยางคศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1923และโรงเรียนศิลปะดนตรีตะวันตกในเซี่ยงไฮ้ปี 1927 ดนตรีฝรั่งกลายเป็นแฟชั่นของปัญญาชนจีนยุคใหม่ในขณะนั้น ส่วนดนตรีแบบฉบับดั้งเดิมและเครื่องดนตรีแท้ๆของจีนกลับเป็นของป่าเถื่อนล้า สมัยไป บทเพลงเกิดใหม่ตั้งแต่ 1930 เป็นต้นมาใช้เทคนิคการประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานแบบตะวันตก เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงก็เป็นฝรั่งอย่างไม่มีทางเลี่ยง รูปแบบคีตนิพนธ์ที่ผลิตออกมามีทั้ง leider, sonata, concerto, symphony, choral และ opera แต่ก็ยังมีคีตกวีรุ่นใหม่บางคนพยายามที่จะหาวิธีประสมประสานระหว่างดนตรีจีน เก่ากับดนตรีตะวันตกเพื่อให้เป็นมาตรฐานใหม่ของวัฒนธรรมจีน นอกจากแนวคลาสสิก ดนตรีพ็อพก็เป็นที่เฟื่องฟูมากโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญคือเมืองเซี่ยงไฮ้ เรียกดนตรีพ็อพนี้ว่า Yellow music เนื้อหาประโลมโลกย์ เทคนิคการร้องแบบตะวันตก ทำนองช้าเนิบหวาน มีงานเพลงใหม่มากมายเล่นในบาร์ ไนต์คลับ งานเลี้ยงสังสรรค์ และมีบทบาทสืบเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกิดใหม่ในจีนด้วย
เมื่อถึงปี 1949 เหมา เจ๋อ ตุง เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์เข้าควบคุมงานทางวัฒนธรรม ย้อนไปเมื่อปี 1937 ประธานเหมาเคยได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สภาปฏิวัติเยนอานเกี่ยวกับวรรณคดีและ ดนตรีว่าควรมีหน้าที่ประหนึ่งอาวุธอันทรงพลังที่จะสร้างเอกภาพและให้การ ศึกษาทางจิตสำนึกแก่ประชาชนเพื่อเอาชนะและทำลายล้างข้าศึกที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อสังคมนิยม เมื่อปฏิวัติสำเร็จจึงเกิดการสนองตอบในเชิงสร้างสรรค์ดนตรีเน้นนโยบายศิลปะ รับใช้มวลชน mass music ดนตรีเพื่อสังคมนิยมและเพลงชาวบ้านมีบทบาทเด่นมากโดยเฉพาะช่วง 1949-64 เกิดวรรณกรรมเพลง Geming Guqu เพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ และหันมาหาวิธีการปรับแนวตะวันตกในการรับใช้จีน สนับสนุนเพลงพื้นบ้าน เพลงปฎิวัติ เพลงเชิดชูสังคมนิยม กรรมาชีพ นิยมเพลงร้องหมู่-เพลงมาร์ชที่แสดงพลังมวลชน มากกว่าเพลงร้องเดี่ยวที่ สื่อศิลปะส่วนตัว งานอุปรากรจีนสดุดีนักรบประชาชนได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนท่วงท่าของการแสดงที่อ่อนช้อยจากจีนเดิมมาสู่การ เคลื่อนไหวแนวขึงขังทรงพลังอย่างบัลเล่ต์รัสเซีย
5. ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม The Cultural Revolution 1966-76 ประธานเหมาเจ๋อตุงรื้อฟื้นอำนาจตนเอง เป็นผู้นำการทำลายล้างปราบปรามบุคคลฝ่ายที่ยังคงคิดเห็นในทางตรงข้ามอย่าง รุนแรงด้วยการสนับสนุนเยาวชนเรดการ์ด กองกำลังติดอาวุธ และการดำเนินงานทางวัฒนธรรมการเมืองซ้ายสุดกู่ภายใต้แก็งค์สี่คน Gang of four ผู้มีบทบาทเด่นในการปรับปรุงระบบวัฒนธรรมคือภรรยาของประธานเหมา นางเจียง ชิง Jiang Qing งดเว้นดนตรีศักดินา (ดนตรีคลาสสิคตะวันตกและดนตรีราชสำนัก) สั่งปิดโรงเรียนและกิจการดนตรีตะวันตกไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแผ่นเสียง สถานบันเทิง สลายคณะศิลปินพื้นบ้าน ยกเลิกประเพณีโบราณเช่นเทศกาลโคมและแข่งเรือ มีกรรมาธิการตรวจสอบงานแสดงต่อสาธารณะว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือ ไม่เพียงไรไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้องทำนองหรือท่าทางในการแสดง กล่าวได้ว่ายุคปฏิวัติวัฒนธรรมนี้เป็นยุคมืดของดนตรีจีนที่สุดยุคหนึ่ง
6. ดนตรีจีนยุคปัจจุบัน หลังจากมรณกรรมของประธานเหมา ขั้วอำนาจเก่าสลายตัวลง เติ้ง เสี่ยว ผิง เข้าปกครองแทน ปรับเปลี่ยนแนวทางการเมืองจีนไปในทางผ่อนปรนมากขึ้นรวมทั้งเปิดประตูความ สัมพันธ์กับนานาชาติอีกครั้ง รัฐบาลรุ่นหลังๆใส่ใจปฏิรูปการปกครองและพัฒนาคนในชาติในทุกๆทางอย่างได้ผล ระบบดนตรีเป็นอิสระมากขึ้น คีตกวีรุ่นใหม่ที่มีความสำนึกในชาติ สนใจหันกลับไปพัฒนาดนตรีจีนเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น มีการขยายวงดนตรีจีนเดิมจากวงเล็กๆกลายเป็นออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ เพิ่มเติมเครื่องดนตรีจีนที่มีสุ้มเสียงแตกต่างเข้าร่วมในวงจีนเดิม พัฒนาการบรรเลงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาพันธ์ดนตรีแห่งชาติยกย่องเชิดชูเกียรตินักดนตรีจีน เดิมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม
ส่วนดนตรีสากลก็ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากรัฐบาล มีหน่วยงานการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จัดการแข่งขันทางดนตรีเพื่อผลิตบุคลากรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมออกมามากมาย มีวงดนตรีสากลประจำรัฐ ประจำท้องถิ่น ประจำสถานีวิทยุโทรทัศน์ มีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดนตรีทุกประเภทส่งออกทั่วโลก
ศิลปินจีนยุคหลังที่มีชื่อเสียง เช่น เสียน ซิงไห่ xian xinghai(1905-45) แต่งเพลงแม่น้ำเหลือง Yellow River Cantata (ต่อมากลายเป็น Yellow River concerto), เฉิน กัง Chen gang และเหอ ซ่าน ห่าว He zhan hoแต่งเพลงบัตเตอร์ฟลายเลิฟเวอร์คอนแชร์โต้ the butterfly lovers concerto, หัว หยั่น จุ้น Hua Yan Jun (1893-1950) หรือ “อาปิง” Ah Bing อัจฉริยะตาบอด แต่งเพลงสำหรับซอเออร์หูจำนวนมาก, เติ้ง ลี จิน (Deng Li-Chun หรือ Theresa Deng) นักร้องเพลงสมัยนิยมจากไต้หวันซึ่งกลายมาเป็นที่นิยมมากในจีน, ตาน ดุน Tan Dun แต่งเพลงแนวก้าวหน้า (modern music) และเพลงประกอบภาพยนตร์ (film music) มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน, ซุย เจี๋ยน (Cui Jian) และ หู เต้เจี๋ยน (Hou Dejian) นักดนตรีร็อคหัวรุนแรงที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวยุคใหม่ของจีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น